Amazing Thailand

ติดตามข่าวสาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประเพณีโล้ชิงช้าชาวอาข่า


ประวัติความเป็นมาของประเพณีโล้ชิงช้า

ประเพณีโล้ชิงช้ามีต้นกำเนิดในดินแดนที่มีชื่อว่า "จาแดล้อง" คือพื้นที่ประเทศจีนในปัจจุบัน โดยดินแดนแห่งนี้มีผู้นำอ่าข่า ที่ชื่อ "ข๊ะบา อ่าเผ่ว หม่อโล๊ะโล๊ะซื่อ" และ "ค๊อบาอ่าเผ่วเอวค๊อ ค๊อคอง" เป็นผู้นำที่ชาวอ่าข่าให้การเคารพนับถือ โดยกล่าวว่า ดินแดนจาแด จะทำการจัดประเพณีโล้ชิงช้า 33 วันเมื่อเป็นเช่นนี้สมาชิกคนในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งคนจน และคนรวย ทุกคนต้องเตรียมเสบียงอาหารไว้เยอะๆ เพื่อเอาไว้ฉลองกันในวันประเพณี นี่คือการบอกเล่าถึงที่มาของ ประเพณีโล้ชิงช้า

ประเพณีโล้ชิงช้าถือเป็นประเพณีทีให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงอ่าข่ามีการแต่งกาย ด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามที่ได้เตรียมไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ สำหรับหญิงสาวอ่าข่าจะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยว และคู่ประเพณีโล้ชิงช้า จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชพันธุ์ที่จะได้เก็บเกี่ยวไว้บริโภค เนื่องจากพืชไร่ พืชสวนต่างๆ ที่ปลูกลงไป พร้อมที่จะได้ผลผลิต โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า "ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ" หมายถึง ประเพณีโล้ชิงช้า มีอาหาร หลากหลาย และสมบูรณ์มากมาย หากประเพณีนี้ไม่มี ประเพณีอื่น หรือพิธีอื่นก็จะไม่มี

และหลังจากที่จัดงานประเพณีโล้ชิงช้าเสร็จแล้ว ชุมชนอ่าข่าก็จะไม่มีการตัดไม้ดิบเข้ามาในชุมชนอีก ไม้ดิบในที่นี้คือไม้ยืนต้น หรือไม้ทุกชนิดที่ยังไม่ได้ถูกตัด ยกเว้นกรณีที่มีคนตายแล้วเท่านั้น จึงถือว่าเป็นวันเข้าพรรษาของชาวอ่าข่าอีกเช่นกัน ในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอ่าข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตก อ่าข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม ประเพณีโล้ชิงช้า มีระยะเวลาในการจัดรวม 4 วันด้วยกัน โดยแต่ละวันมีกำหนดการดังนี้

วันที่ 1" จ่าแบ"

วันเริ่มแรกของพิธีกรรมเรียกว่า "จ่าแบ" ผู้หญิงอ่าข่าอาจเป็นแม่บ้านของครัวเรือน หรือถ้าแม่บ้าน ไม่อยู่อาจเป็นลูกสาวไปแทนก็ได้ ก็จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตัดน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ อ่าข่าเรียกว่า "อี๊จุอี๊ซ้อ" การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว แต่อ่าข่าไม่นิยมให้ผู้ชายไปตักน้ำ เพราะถือว่า เป็นงานของผู้หญิง และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก "ห่อถ่อง" ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำอย่าง ละเอียดโดยก่อน ที่จะตำก็จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จ หรือได้ที่แล้วก็จะมีการโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่ง แล้วก็นึ่งต่อระหว่างที่รอข้าวสุก ก็จะมีการ ตำงาดำผสมเกลือไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำ พิธีเช่นกัน

วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า

เป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของ "โจว่มา" ผู้นำศาสนา เพื่อจะปรึกษา และแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน หรืออ่าข่า เรียกว่า "หล่าเฉ่อ" ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย โจว่มา ผู้นำศาสนา จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อน จากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้ หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ต้องมาสร้างชิงช้าเล็กไว้ ที่หน้าบ้าน ของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี
วันที่ 3 "วัน ล้อดา อ่าเผ่ว"

วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมี การอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า

วันที่ 4 "จ่าส่า"

วันสุดท้ายของพิธีกรรม "จ่าส่า" สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะได้โล้ในปีนี้ แต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น ผู้นำศาสนาก็จะทำการเก็บ เชือกของชิงช้า โดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลัง อาหารค่ำก็จะทำการเก็บ เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณี โล้ชิงช้า


กิจกรรม

พิธีโล้ชิงช้าเพื่อการฉลองให้กับพืชผลที่มีความเจริญงอกงามรอเก็บเกี่ยว รำลึกและให้เกียรติสตรี พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ, การเลี้ยงฉลอง, การเต้นรำ

สอบถามรายละเอียด

ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 12 จังหวัดเชียงราย โทร. 0 5391 8415 สมาคมอาข่า โทร. 0 5371 4250, 08 1952 2179

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก