Amazing Thailand

ติดตามข่าวสาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

งานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี ๒๕๕๕

งานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี ๒๕๕๕

วันที่ 4 เม.ย. 2555 - 6 เม.ย. 2555

สถานที่จัดงาน
: ณ วัดกลางทุ่ง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ททท.แม่ฮ่องสอนขอเชิญร่วมสืบสานงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี ๒๕๕๕

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนร่วมกับชุมชนป๊อกตะวันออกจัดงานสืบสานงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี ๒๕๕๕ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ – ๖ เมษายน ๒๕๕๕ ณ วัดกลางทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยงานดังกล่าวเป็นการบรรพชาสามเณรหมู่ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวไต (ไทยใหญ่) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีของชาวไต ที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปี ชี้ให้เห็นถึงความศรัทธา อันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของชุนท้องถิ่น ตลอดจนการสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามให้สืบไปชั่วลูกชั่วหลานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) นับได้ว่ามีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไตอย่างแท้จริง รวมถึงพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทำให้ประเพณี ปอยส่างลองได้รับความสนใจจากท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางเข้ามายังจังหวัดแม่ฮ่องสอนพร้อมกับการร่วมทำบุญไปพร้อมกัน ด้วยการจัดงานประเพณีปอยส่างลองในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนโดยเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนร่วมกับ ชุมชนป๊อกตะวันออก กำหนดจัดงานประเพณี ปอยส่างลองขึ้นในวันที่ ๔ – ๖ เมษายน ๒๕๕๕ รวม ๓ วัน

วันที่ ๔ เม.ย. ๕๕ เรียกว่า วันรับส่างลอง

ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วย เข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่างๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่นดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปากสีแดงและสวมถุงเท้าสีขาวถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอน จากนั้น “ตะแปส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ นำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกั้นบังแดดให้ส่างลอง

วันที่ ๕ เม.ย. ๕๕ เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่

เป็นวันแห่เครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดปางล้อไปตามถนนสายต่างๆ ในช่วงเช้ามีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทองหรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไต ที่วัดกลางทุ่ง

วันที่ ๖ เม.ย. ๕๕ เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่

เป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงอาหารไต แก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

นักท่องเที่ยวสามารถส่งภาพถ่าย เข้าร่วมโครงการประกวดภาพถ่าย “มนต์เสน่ห์แม่ฮ่องสอน” Charming Mea Hong Son ประเภทงานประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวเมืองแม่ฮ่องสอนได้ชิงเงินรางวัลรวมกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท
รายละเอียดเพิ่มเติม: www.travelmaehongson.org / www.dseason.com
ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร.๐ ๕๓๖๑ ๒๙๘๒

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน

ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน

วันที่ 6 เม.ย. 2555 - 7 เม.ย. 2555

สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

จังหวัดสุรินทร์โดยอำเภอสังขะ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลดม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอสังขะ กำหนดจัดงาน“ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน” ประจำปี 2555 ขึ้นในวันที่ 6-7 เมษายน 2555 ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณสถาน “ปราสาทภูมิโปน” ซึ่งเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นผ่านการแสดงแสง สี เสียง “นิรมิตภูมิโปนเทวาลัยแห่งเจนลนคร” (กำเนิดเนียง ด็อฮฺ ธม)

นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า ปราสาทภูมิโปนเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง 3 หลังเป็นปรางค์ก่ออิฐมีหินทรายประกอบ อีกหลังหนึ่งเป็นศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ตามศิลปะแบบไพรกเมง จากการขุดแต่งพบชิ้นส่วนจารึก 1 ชิ้น ที่ปรางค์องค์ใหญ่ จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ซึ่งนิยมใช้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ประกอบกับลวดลายใบไม้ม้วนที่เหลืออยู่เป็นลวดลายแบบที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะคุปตะรุ่นหลังของอินเดียรวมทั้งเทคนิควิธีการก่ออิฐที่ไม่ถือปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า กับการศึกษาลวดลายเสาประดับกรอบประตู นอกจากนี้ปราสาทภูมิโปนยังมีตำนานรักสามเศร้าของเนียง ด็อฮฺ ธม ที่ได้กล่าวถึงกษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่า ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบมีข้าศึกมาประชิตเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระธิดาพร้อม ไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม แปลว่า พระนางที่มีหน้าอกบวมงาม ด้วยกิตติศัพท์ความงามของนางเป็นที่โจษขานไปทั่ว จึงเป็นที่หมายปองของพระราชาเมืองต่างๆ ที่ต้องการพระนางมาเป็นพระชายา แต่แล้วก็มีชายหนุ่มเพียง 2 คน คือเจ้าชายโฮลมา แห่งเมืองโฮลมา และนายบุญจันทร์ ทหารคนสนิท ที่มีโอกาส ได้ใกล้ชิดและสร้างสายสัมพันธ์กับพระนาง สุดท้ายแล้วพระนางศรีจันทร์ จะเลือกชายใดเป็นสามี และปริศนาของต้นลำเจียกที่ไม่เคยออกดอกจนเกิดเป็นตำนานปราสาทภูมิโปน “เนียง ด็อฮฺ ธม” ที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน