Amazing Thailand

ติดตามข่าวสาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด ปี 2553


จัดขึ้นในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ในปีนี้ ตรงกับ วันที่ 19 – 31 ตุลาคม 2553 โดยความเชื่อของชาวไทยใหญ่ก่อนถึงวันงานจะมีการจัดเตรียมสร้างปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่างๆ หน่อกล้วย อ้อยและโคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงาม เรียกว่า "จองพารา" เพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากนั้นก็จะยก "จองพารา" ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด โดยในช่วงเย็นวันที่ 21 ตุลาคม 2553 จะมีการแห่ขบวนจองพาราของแต่ละหมู่บ้านในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมขบวนฟ้อนรำตั้งแต่บริเวณสะพานหน้าโรงแรมรุคส์ฮอลิเดย์ถึงบริเวณถนนสิงหนาทบำรุง ในตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (23 ตุลาคม 2553) อันเป็นวันออกพรรษาตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนชาวไทยใหญ่ จะพร้อมใจกันตักบาตรเทโวโรหนะ บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู พระภิกษุ สามเณรและประชาชนนับร้อยนับพันจะเรียงรายสองข้างทางบันไดนาค เพื่อทำบุญตักบาตร เรื่อยลงมาจนถึงวัดม่วยต่อซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา ส่วนในตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียนและขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ก่อนย่ำรุ่งของวันแรม 1 ค่ำ จะมีพิธี "ซอมต่อ" คือการอุทิศเครื่องเซ่นแก่สิ่งที่ชาวไตถือว่ามีบุญคุณในการดำเนินชีวิต โดยนำกระทงอาหารเล็กๆ ที่จุดเทียนติดไว้ด้วยไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ แสงประทีปนับร้อยนับพันดวงตามวัด สถูปและบ้านเรือน ตลอดระยะเวลาของการจัดงานตั้งแต่แรม 1 ค่ำไปจนถึงแรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราวันละครั้ง และจุดเทียนหรือประทีป โคมไฟไว้ตลอดในช่วงเวลาตลอดเทศกาล จะมีการละเล่นเฉลิมฉลองหลายชนิด เช่น ฟ้อนโต ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ ฟ้อนก้าแลว(ฟ้อนดาบ) ฯลฯ ก่อนจะถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีพิธี "หลู่เตนเหง"คือ การถวายเทียนพันเล่ม โดยแห่ต้นเทียนไปถวายที่วัด และใน "วันก๋อยจ๊อด" คือวันแรม 8 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลออกพรรษา จะมีพิธี "ถวายไม้เกี๊ยะ" โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ(สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูง แล้วนำเข้าขบวนแห่ประกอบด้วย ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไต

งานประเพณีตักบาตรเทโว


ประเพณีตักบาตรเทโว มีปรากฏอยู่ในพุทธตำนาน เรื่อง “เทโวโรหณสูตร” ประเพณีตักบาตรเทโว มาจากคำว่า “เทโวโรหณะ” การเสด็จลงจากสวรรค์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยในแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่มนุษย์โลก จากพุทธตำนานดังกล่าว พุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุทัยธานีจึงได้ร่วมกันจัดงาน เป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน โดยจะมีพระภิกษุสงฆ์จากทุกอำเภอในจังหวัดอุทัยธานี จะมาชุมนุมกัน ณ ยอดเขาสะแกกรัง เพื่อลงมารับบาตรจากพุทธศาสนิกชน โดยลงมาตามบันไดจำนวน 449 ขั้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม อื่นๆที่น่าสนใจได้แก่ การตักบาตรทางน้ำ การแข่งเรือพื้นบ้าน อาทิ เรือหัวใบ้ท้ายบอด การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแสดง แสง เสียง ณ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี

ทั้งนี้ สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุทัยธานี โทรศัพท์ 0 56 51 4651-2 หรือ E-mail:tatuthai@tat.or.th อบจ. อุทัยธานี 0 5651 4027, เทศบาลเมืองอุทัยธานี 0 5651 2005 ทุกวันในเวลาราชการ

งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2553


ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี จะมีประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเดินทางมายังจังหวัดหนองคายเพื่อสัมผัสกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” ลูกไฟสีแดงอมชมพูพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ไม่มีเสียง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น เหมือนดอกไม้ไฟหรือพลุ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2553

ในวันดังกล่าวจะมีพิธีบวงสรวงพญานาคตามแบบโบราณที่สืบทอดกันมา ณ ศาลหลักเมืองปากห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย ส่วนในเขตเทศบาลเมืองหนองคายได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นถนนอาหาร การประกวดกระทงยักษ์ การแข่งขันเรือยาวประเพณีฯชิงถ้วยพระราชทานฯ การแสดงแสง-เสียง เปิดตำนาน “บั้งไฟพญานาค” การประกวดปราสาทผึ้งแบบดั้งเดิม การลอยเรือไฟบูชาพญานาค การลอยกระทงสาย และการตักบาตรเทโวโรหนะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุดรธานี โทรศัพท์ 0 4232 5406-7 หรือ E-mail: tatudon@tat.or.th หรือศูนย์ให้บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย โทรศัพท์ 0 4242 1326, 0 4241 1120 ทุกวันในเวลาราชการ

งานประเพณีไหลเรือไฟ นครพนม ปี 2553


งานไหลเรือไฟ กาชาดนครพนม 16 - 24 ตุลาคม 2553 และงานวันอาหารโลก 17 - 24 ตุลาคม 2553 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดนครพนม และริมแม่น้ำโขงเทศบาลเมืองนครพนม ชมการแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำโขง การแห่ปราสาทผึ้งและเรือไฟบก การประกวดลอยเรือไฟในแม่น้ำโขงในคืนวันออกพรรษา การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การรำบูชาองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ รวม 7 เผ่า ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่า และร่ายรำด้วยท่วงท่าอันงดงามเพื่อบูชาพระธาตุพนม

ประเพณีชักพระ - ทอดพระป่าและแข่งขันเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี


วันที่ 20 - 28 ตุลาคม 2553 ณ ริมเขื่อนแม่น้ำตาปี สนามข้างโรงแรมวังใต้ และบริเวณสะพานนริศ กิจกรรมประกอบด้วย การประกวดพุ่มผ้าป่า เรือพนมพระ ลากรถพระบก รถพระน้ำ
23 ตค. ชมการประกวดพุ่มผ้าป่าทุกมุมเมือง
24 ตค. ร่วมชักพุ่มผ้าป่าและชมขบวนแห่
23-25 ตค. ชมการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน
และพบกับ การแสดงมหรสพ ดนตรี สตริง ลูกทุ่ง เพื่อชีวิต พร้อมจับจ่ายสินค้าราคาถูกผลิตภัณฑ์โอทอป