Amazing Thailand

ติดตามข่าวสาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

สงกรานต์นครพนม - รื่นรมย์บุญปีใหม่ไทย - ลาว จังหวัดนครพนม


วันที่ 12 - 15 เมษายน 2553
สถานที่ ณ บริเวณหน้าตลาดอินโดจีนริมฝั่งแม่น้ำโขง, บริเวณลานกันเกรา หาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

กิจกรรม
จัดพิธีฮดสรง (สรงน้ำ) พระธาตุประจำวันเกิด พิธีตบปะทาย (ก่อเจดีย์ทราย) การเล่นน้ำสงกรานต์ถนนข้าวปุ้น การแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า
ขบวนแห่สงกรานต์ตามวิถีดั้งเดิมของชาวภูไทเรณูนคร การแสดงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นเมือง การแสดงประติมากรรมทราย

นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับความงดงามของวิวทิวทัศน์ที่งดงามของแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ “ หาดทรายทองศรีโคตรบูร UNSEEN THAILAND ”
ชมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาชายหาด พร้อมชม และร่วมสนุกกับกิจกรรมการก่อสร้างประติมากรรมทราย หลากหลายรูปแบบ ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยช่างยอดฝีมือระดับประเทศบนหาดทรายทองศรีโคตรบูร แห่งเดียวในประเทศไทย

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นน้ำ ปีนี้เทศบาลเมืองนครพนม จัดเตรียมกิจกรรม “ถนนข้าวปุ้น” ริมแม่น้ำโขงให้นักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำแบบสนุกสนาน พร้อมทั้งยังเปิดให้ชิม “ข้าวปุ้น(ขนมจีน)”

ฟรี ...ชมกิจกรรมขบวนแห่สงกรานต์
การแข่งขันสะบ้าทอย กินข้าวพาแลง และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านนานาชาติ ณ บริเวณหาดทรายทองศรีโคตรบูร

อีกหนึ่งความประทับใจที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัส คือ “สงกรานต์ของชาวเรณูผู้ไทย.. สืบสานความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแห่งเดียว ที่มีความสวยงาม เริ่มจาก...วันที่ 12 เมษายน 2553 ชมความวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี (ฮีต 12 ครอง 14) ของชนเผ่าผู้ไทยที่ถ่ายทอดผ่าน “ถนนวัฒนธรรม” เวลาบ่ายของวันที่ 13 เมษายน 2553 เป็นต้นไป ชมขบวนแห่สงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่สวยงามกว่า 20 ขบวน แต่งกายด้วยชุดผู้ไทย พร้อมใจกันเคลื่อนขบวนตามถนนรอบ ๆ ตัวอำเภอเรณูนคร เฉลิมฉลองการเริ่มต้นสู่ศักราชปีใหม่ ชุมฉ่ำด้วยบรรยากาศของการเล่นน้ำแบบไทย ๆ ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม จนกว่าจะถึงเวลาเย็นทุกคนจะไปร่วมกันจัดกิจกรรม อาทิ การประกวดสาวงามผู้ไทย, กิจกรรมรำวงย้อนยุค และร่วมรับประทานอาหารแบบพาข้าวแลง พร้อมชมการแสดงการฟ้อนผู้ไทยที่เป็นการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมแบบพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทยที่ได้รับการถ่ายทอดกันจากบรรพบุรุษของชาวเผ่าผู้ไทย มาเป็นเวลาช้านาน

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ยังมีการจัดงานนมัสการพระพุทธบาทเวินปลา ณ เกาะกลางน้ำโขง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนม ประมาณ 10 กม. รอยพระพุทธบาทดังกล่าว ห่างจากฝั่ง 100 เมตร และห่างจากวัด 150 เมตร นมัสการได้ต่อเมื่อน้ำโขงลดในฤดูแล้ง เดือนมกราคม- พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันสร้างสะพานไม้จากริมตลิ่งทอดยาวไปจนถึงรอยพระพุทธบาทอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนที่จะหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชา และชมทัศนียภาพสองฝั่งไทย-ลาว

นอกจากนี้ ในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ ยังม่วนซื่นในงานบุญยิ่งใหญ่ของชาวลาวที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน การสรงน้ำพระธาตุศรีโคตรบองอันศักดิ์สิทธิ์ ชมขบวนแห่นางสังขาน(นางสงกรานต์) อันยิ่งใหญ่ตระการตา พร้อมสนุกสนามกับการละเล่นสาดน้ำในแบบฉบับลาว

งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ประจำปี 2553

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย ขอเชิญทุกท่านร่วมงานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ประจำปี 2553 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25-28 เมษายน 2553 นี้ ณ พระธาตุศรีสองรัก หมู่ที่ 14 บ้านหัวนายุง ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย โดยมีกิจกรรม และพิธีกรรมตามวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม

พิธีสมโภช และงานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ความเชื่อของชาวอำเภอด่านซ้ายที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ลูกหลานจะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง อีกทั้งทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ในด้านพิธีกรรม เริ่มด้วยการทำความสะอาดพระธาตุ และซ่อมแซมสถานที่ชำรุดทรุดโทรมก่อนจะถึงวันงานจริง พิธีจะเริ่มด้วยการบูชาพระธาตุโดยมีเจ้ากวน เจ้าแม่นางเทียม แสน นางแต่ง และชาวบ้าน จะเริ่มกระทำพิธีโดยช่วยกันจัดเครื่องเซ่น เพื่อทำพิธีบูชาองค์พระธาตุอันประกอบด้วยกระทงใหญ่ 1 กระทง กระทงน้อย 8 กระทง เครื่องบูชาที่ใส่ลงในกระทง ได้แก่ เมี่ยง หมาก กล้วย อ้อย แกงส้ม ขนมต่าง ๆ พิธีจะต้องทำก่อนเพล และทำในขณะที่ประชาชนชุมนุมกันมากๆ เมื่อเสร็จพิธีก็จะยกกระทงใหญ่ไปลอยน้ำ ส่วนกระทงน้อยยกไปบูชาตามบริเวณริมวัด ถัดจากพิธีบูชาพระธาตุก็จะเป็นพิธีสรงธาตุ พิธีสู่ขวัญธาตุ พิธีเวียนเทียน พิธีบวชนาค ซึ่งจะต้องจุดบั้งไฟไปพร้อมกันด้วย และสุดท้ายก็จะเป็นพิธีคารวะธาตุ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย โทร. 0-4289-1266 สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอด่านซ้าย โทร. 08-3145-3080 และททท. สำนักงานเลย โทร. 042-812812 /042-811405


งานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์

วันที่ 10-11 เมษายน 2553
ณ สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์ โรงแรมเดอม็อค กรุงเทพฯ

ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานครร่วมกับประชาคมชาววิสุทธิกษัตริย์ จัดงานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ ปีที่ 70 เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีดั้งเดิมของชาววิสุทธิกษัตริย์ ระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2553 ณ สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์ โรงแรมเดอม็อค


นางเยียรยง ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดงานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ ปีที่ 70 ครั้งนี้ว่า ถือเป็นตำนานของชาววิสุทธิกษัตริย์ที่ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวยังเป็นการน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ ที่สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาเพียง 9ปี โดยอดีตถนนสายนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ และพระราชทานชื่อถนนนี้ว่า “ถนนวิสุทธิกษัตริย์” ที่เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ อาทิ วัดวาอาราม นักเขียน ศิลปิน รวมถึงขนมและอาหารขึ้นชื่อ ได้แก่ น้ำอ้อยฉัตรประไพร ข้าวต้มน้ำวุ้น

งานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์จึงเป็นประเพณีถือปฏิบัติกันมายาวนาน โดยปีนี้ภายในงานจะมีพิธีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตร์ พิธีตักบาตรพระภิกษุและสามเณร จำนวน 71 รูป ขบวนแห่และสาวงามผู้เข้าประกวดนางงามวิสุทธิกษัตริย์ ประจำปี 2553 ซึ่งเวทีวิสุทธิกษัตริย์แห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเวทีปราบเซียน สาวงามที่ผ่านจากเวทีนี้ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จเพราะเวทีนี้เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่เวทีนางสาวไทยหรือการเป็นดารา นักแสดง เช่น คุณสรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ ที่เป็นเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เธอยังคว้าตำแหน่งนางสาวไทยมาครองได้สำเร็จเช่นกัน

นอกจากนี้กิจกรรมภายในงานยังมีการแสดงต่างๆ ของโรงเรียนและศูนย์เยาวชนในเขตพระนคร การแสดงโขนชุด “เจ็ดทศวรรษแห่งตำนาน งามตระการคู่พระนคร” การประกวดหนูน้อยสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ และในบริเวณงานยังมีการจัดสาธิตภูมิปัญญาไทยโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเขตพระนคร ทั้งนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ ระหว่างวันที่10-11 เมษายน 2553 เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามให้คงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืน

อัศจรรย์วันสงกรานต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่ 12 – 14 เมษายน 2553
ณ ถนนเณรแก้ว บริเวณหน้าสถานีขนส่งจังหวัดสุพรรณบุรี

จังหวัดสุพรรณบุรีขอเชิญเที่ยวงาน “อัศจรรย์วันสงกรานต์จังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี 2553”

จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงาน “อัศจรรย์วันสงกรานต์สุพรรณบุรี ประจำปี 2553” ในระหว่างวันที่ 12 – 14 เมษายน 2553 ณ ถนนเณรแก้ว บริเวณหน้าสถานีขนส่งจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่สืบไป และเพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่

วันที่ 12 เมษายน 2553
เวลา 18.00 น. – 22.00 น. ชมการแสดงวงดนตรีลูกทุ่ง / วงสตริง ที่ชนะเลิศการประกวดในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดประจำปี 2553 การแสดงเลียนแบบ ดันดารา ในรายการตีสิบ และรำวงย้อนยุค

วันที่ 13 เมษายน 2553
เวลา 10.00 – 12.00 น. พิธีรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ในจังหวัดสุพรรณบุรี
เวลา 15.00 – 17.30 น. ชมขบวนแห่สงกรานต์จากหน่วยงานราชการจากอำเภอต่าง ๆ ขบวนแห่หลวงพ่อโตทองคำ โดยขบวนทั้งหมดจะพร้อมกันบริเวณหน้าวัดปราสาททอง
เวลา 17.30 – 18.30 น. ร่วมกิจกรรมความสนุกสนานกับ “ถนนบันเทิงรื่นเริงสงกรานต์”
เวลา 18.30 – 19.00 น. พิธีเปิดงาน และการมอบรางวัลการประกวดขบวนแห่สงกรานต์ รวมทั้งการคัดสรรสุดยอดพ่อครัว – แม่ครัวหัวเห็ดเมืองสุพรรณบุรี
เวลา 19.00 – 22.00 น. ชมการประกวดเทพีสงกรานต์ ประจำปี 2553 และชมการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องลูกทุ่งชื่อดังในเมืองไทย

วันที่ 14 เมษายน 2553
เวลา 18.00 – 19.30 น. การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งรอบชิงชนะเลิศ ชุดแสดงมายากลNeo Magic แชมป์มายากลเวทีของประเทศไทย และการแสดงวงดนตรีลูกทุ่งจากรายการชิงช้าสวรรค์

นอกจากนี้ ในบริเวณงานยังมีการจำหน่ายอาหารโบราณรสเด็ดเมืองสุพรรณ การจำหน่ายสินค้า OTOP (5 ดาว) ชมรมพระเครื่องเมืองสุพรรณ ในระหว่างเวลา 16.00 – 22.00 น. และชมการแข่งขันชกมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่น ในระหว่างเวลา 20.00 – 22.00 น. ของทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ทำการปกครองจังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 035 – 535380 และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี โทร. 035 – 536030, 035 – 535789www.suphan.net

งานขึ้นเบญจาสรงน้ำสามสมเด็จเจ้า จังหวัดสงขลา

วันที่ 9-25 เมษายน 2553
ณ ลานหน้าอาคารนวมภูมินทร์ สถาบันทักษิณคดีศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

กิจกรรม
9 เมษายน 2553 กิจกรรมทำบุญวันว่างและรดน้ำสามสมเด็จ
9-25 เมษายน 2553 เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมรดน้ำ 3 สมเด็จ
หมายเหตุ จะมีการประดิษฐานรูปหล่อพระ 3 สมเด็จ คือ สมเด็จเจ้าพะโคะ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่เป็นที่รู้จักและนับถือเคารพบูชาของคนในท้องถิ่นและคนทั่วไปมายาวนาน โดยในวันที่ 9 เมษายน 2553 จะจัดกิจกรรมทำบุญวันว่างและรดน้ำสามสมเด็จ จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา ร่วมรดน้ำ 3 สมเด็จ เนื่องในเทศกาลวันว่างและสงกรานต์ของชาวใต้

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

ขอเชิญเที่ยวงาน...ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2553

จัดโดยความร่วมแรงร่วมใจของชาวไทยเชื้อสายมอญ ในแต่ละปีงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จะเริ่มในวันอาทิตย์แรกหลังวันที่ 13 เมษายน ซึ่งกำหนดการในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน พ.ศ. 2553 ภายในงานจะมีกิจกรรมการละเล่นพื้นเมือง ได้แก่ การเล่นสะบ้ารามัญ อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวรามัญ การเล่นสะบ้ามี 2 ประเภท คือ สะบ้าประเภทเล่นกลางวัน เรียกว่า ทอยสะบ้าหัวช้าง และการเล่นสะบ้าบ่อนในตอนกลางคืน นอกจากนี้ภายในงานยังสามารถชมการแสดงทะแยมอญ ชมสาธิตการกวนกาละแมของดีเมืองพระประแดง พร้อมชมการประดับไฟ แสง สี ตระการตา ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างสีสันให้งานประเพณีสงกรานต์พระประแดงนี้คือ การประกวดนางสงกรานต์พระประแดง และที่พิเศษกว่าการจัดงานสงกรานต์ที่อื่นๆ ที่ปัจจุบันนับเป็นเอกลักษณ์ของสงกรานต์เมืองพระประแดง คือการประกวดหนุ่มลอยชาย ที่จะมีการประกวดในคืนวันที่16 เมษายน 2553 ด้วย

เมืองพระประแดง หรือเมืองนครเขื่อนขันธ์และอีกชื่อหนึ่งที่ชาวมอญเรียกว่า เมืองปากลัด เป็นเมืองเก่าแก่ มีประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่จึงเกี่ยวกับ ชาวมอญทั้งสิ้น อาทิ การสรงน้ำพระพุทธรูปในมณฑป วัดโปรดเกศเชษฐาราม การปล่อยนกปล่อยปลา โดยมีตำนานอยู่ 2 ประการ คือ การช่วยชีวิตปลาที่ตกคลักอยู่ตามหนองบึงที่กำลังแห้ง ในฤดูแล้ง ชาวบ้านจะช่วยกับจับปลาไปปล่อยในที่มีน้ำ เพื่อให้พ้นความตายและเป็นการรักษาพันธุ์ปลาในทางอ้อมด้วย การแห่ปลาของชาวพระประแดง ทำกันทุกปีระหว่างเทศกาลสงกรานต์ มีสาวรามัญร่วมขบวนแห่ นำปลาไปปล่อยในที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม ก่อนการแห่นกแห่ปลา ในขบวนแห่จะมีการละเล่น ได้แก่ แตรวง ทะแยมอญ เถิดเทิง ร่วมขบวนไปเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2553 และหากท่านใดสนใจสมัครเข้าประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย สามารถสมัครได้ที่ กองการศึกษา เทศบาลเมืองพระประแดง ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 12 เมษายน 2553 โทรศัพท์ 0 2463 4841

มหกรรมท่องเที่ยวเมืองพัทลุง 2553


วันที่ 3-9 เมษายน 2553
สถานที่ ณ หาดแสนสุขลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

การจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของพัทลุงในทุกรูปแบบ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี นำไปสู่ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และมาลงทุนในอนาคตภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยชาวพัทลุงทุกคนพร้อมใจกันเป็นเจ้าภาพ

กิจกรรม
1. การแสดง mini light and sound ย้อนตำนานเมืองพัทลุง
2. การแสดง mini light and sound วัฒนธรรมมโนราห์
3. การประกวด Miss ท่องเที่ยว Phatthalung และนางงามทุ่งรวงทอง
4. การแสดงคอนเสิร์ตหลวงไก่เล่าขานตำนานหนังตะลุง
5. การประกวดหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบพอเพียง การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวรอบทะเลสาบสงขลาและวันเดียวเที่ยวเมืองลุง
6. การประกวดทำขนมพื้นบ้าน (มหกรรมขนมพื้นบ้าน)

วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

งานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช


วันที่ 11 - 15 เมษายน 2553
สถานที่ บริเวณวัดพระบรมธาตุ และบริเวณสวนศรีธรรมโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

กิจกรรม
ประเพณีบูชาพระธาตุปีใหม่สงกรานต์ ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ ขบวนแห่นางดาน และพิธีโล้ชิงช้าตียัมปวาย งานมหกรรมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง
งานมหกรรมขนมจีนฟรี การประกวดพระเครื่อง ไหว้พระชมเมืองและเล่นน้ำสงกรานต์

งานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน ครั้งที่ 11

งานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน ครั้งที่ 11
วันที่ 9-10 เมษายน 2553
ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

จังหวัดสุรินทร์โดยอำเภอสังขะ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอสังขะ และองค์การบริหารส่วนตำบลดม จัดงาน “ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน” ครั้งที่ 11 ขึ้นในวันที่ 9-10 เมษายน 2553 ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณสถาน “ปราสาทภูมิโปน” ซึ่งเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า ปราสาทภูมิโปน เป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ศิลปะแบบไพรเกมร ประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทอิฐหลังที่ 1 อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐานกรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน ปราสาทอิฐหลังที่ 2 อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูทรายปราสาทอิฐหลังที่ 3 หรือปรางค์ประธานเป็นปราสาทหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่ย่อมุม มีบันไดและประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนครร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วย อักษรปัสสวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และปราสาทอิฐหลังที่ 4 อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานเท่านั้น

ณ ที่แห่งนี้มีตำนานการก่อสร้างกล่าวถึง กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่า ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบมีข้าศึกมาประชิตเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปนพระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่ แต่ด้วยกิตติศัพท์ความงามของนางเป็นที่โจษขานไปทั่ว จึงเป็นที่หมายปองของพระราชาเมืองต่างๆ ที่ต้องการพระนางมาเป็นพระชายา แต่แล้วก็มีชายหนุ่มเพียง 2 คน คือเจ้าชายโฮลมา แห่งเมืองโฮลมา และนายบุญจันทร์ ทหารคนสนิท ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสร้างสายสัมพันธ์กับพระนาง สุดท้ายแล้วพระนางศรีจันทร์ จะเลือกชายใดเป็นสามี และปริศนาของต้นลำเจียกที่ไม่เคยออกดอก จนเกิดเป็นตำนานปราสาทภูมิโปน “เนียง ด็อฮฺ ธม” ที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดสุรินทร์โดยอำเภอสังขะ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอสังขะ และองค์การบริหารส่วนตำบลดม จึงจัดงาน “ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน” ครั้งที่ 11 ขึ้นในวันที่ 9-10 เมษายน 2553 ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน กิจกรรมภายในงานได้แก่ การบวงสรวงองค์ปราสาท การเซ่นไหว้พระภูมิเจ้าที่และสิ่งศักดิสิทธิ์ การประกวดพานบายศรี การแข่งขันชกมวยมรดกโลก การเดินแบบแฟชั่นผ้าไหม การแสดงแสง สี เสียง ตำนานเนียง ด็อฮฺ ธม และมินิคอนเสิร์ต พิเศษสุดในปีนี้ ท่านจะได้ชมการแสดงแสง สี เสียง ตำนานเนียง ด็อฮฺ ธม ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาโดยมี ตั๊ก บงกช คงมาลัย รับบทพระนางศรีจันทร์ และออกแบบเครื่องแต่งกายโดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้คิดค้นประดิษฐ์ลวดลายผ้าไหมยกทองโบราณ บ้านท่าสว่าง ที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม ซึ่งมีการออกแบบจากภาพจำหลักของปราสาทภูมิโปน

งานโลกทะเลชุมพรประจำปี 2553

งานโลกทะเลชุมพรประจำปี 2553
วันที่ 10 - 12 เมษายน 2553
ณ บริเวณพื้นที่ชายหาดทุ่งวัวเล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร


“เปิดประตูสู่การท่องเที่ยวแดนใต้กับงานโลกทะเลชุมพร”

ประตูสู่ภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือนาง ขึ้นชื่อรังนก นี่คือคำขวัญที่ผู้มาเยือนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยอย่างยิ่งจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดแรกในการเดินทางเยือนถิ่น ดินแดนทักษิณ เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องเที่ยวชมความงดงามและความมหัศจรรย์แดนใต้สยามประเทศ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร , สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร , หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดชุมพร ร่วมจัดโครงการงานโลกทะเลชุมพรประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 10 - 12 เมษายน 2553 ณ บริเวณพื้นที่ชายหาดทุ่งวัวเล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์

นายอุทัย วรมาศกุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร กล่าวว่า การจัดโครงการงานโลกทะเลชุมพร ปี 2553 ครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ กิจกรรมRally จักรยาน คาราวานรถยนต์ กิจกรรมประกวดภาพถ่าย “ Amaziag Chumphon” ขับกล่อมด้วยดนตรีชายหาดจากศิลปินยอดนิยม , Package Tour เที่ยวทะเลชุมพรราคาพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย พร้อมทั้งกิจกรรมฟื้นฟูธรรมชาติและทัศนียภาพทะเลชุมพรด้วยกิจกรรม Big Cleannig Day 2010 นอกจากนี้จังหวัดชุมพรซึ่งเปรียบเสมือนประตูสู่ดินแดนทักษิณ มีแหล่งท่องเที่ยว ที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หาดทรายชายทะเล นิเวศน์ป่าเขา พื้นที่ลุ่มน้ำ ประเพณีวัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีกิจกรรมท่องเที่ยว อาทิ กิจกรรมล่องแพพะโต๊ะและบ้านคลองเรือ , เที่ยวศึกษาป่าชายเลน ดำน้ำ ล่องเรือ ตกปลาหมึก ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร , ศึกษาประวัติศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชุมพร , สักการะศาลกรมหลวงชุมพร ฯ บริเวณหาดทรายรี ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ , และการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรรวมไปถึงกิจกรรม Home stay ที่น่าสนใจอีกมาก


งานประเพณีขึ้นเขาไหว้พระถ้ำเอราวัณ

วันที่ 10-15 เมษายน 2553
ณ ลานวัดถ้ำเอราวัณ ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประเพณีขึ้นเขาไหว้พระ ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 10-15 เมษายน 2553 ณ ลานวัดถ้ำเอราวัณ ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู

ถ้ำเอราวัณว่า เป็น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นของจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว อยู่ในเทือกเขาที่ทอดยาวจากเหนือจดใต้กั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดเลย และหนองบัวลำภู อยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 210 (สายหนองบัวลำภู-เลย) ห่างจังหวัดหนองบัวลำภูประมาณ 45 กม. ผ่านอำเภอนาวัง มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก 2 กม. ถ้ำเอราวัณนี้ เดิมชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำช้าง หรือ ผาถ้ำช้าง ปากถ้ำมีพระพุทธชัยศรีมหามุนีตรีโลกนาถ ภายในถ้ำจะพบเห็น อ่างหิน สิงโตหิน เจดีย์หิน ช้างหิน ถ้ำนางผมหอม เห็ดหิน ถ้ำฤาษี จุดชมวิว และเขาทะลุ นอกจากนี้อำเภอนาวังยังเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลทางด้านเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้คำขวัญของอำเภอที่ว่า “สวยสุดล้ำถ้ำผาเวียง ลำพะเนียงน้ำใส ประเพณีขึ้นเขาไหว้พระ แดนธรรมะถ้ำเอราวัณ”

กิจกรรมที่น่าเข้าร่วมชมได้แก่ การประกวดขันหมากเบ็งยักษ์ การประกวดร้องเพลง การประกวดเล่านิทาน ขบวนแห่ขององค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ การประกวดธิดาผมหอม งานแสดงสินค้าพื้นบ้านหลากหลายชนิด วงดนตรี หมอลำ และอัญเชิญขันหมากเบ็ง ดอกไม้ ธูปเทียน ไหว้พระถ้ำเอราวัณ

Krabi Rock & Fire International 2010

จังหวัดกระบี่ ผนึกกำลัง ร่วมกับ ภาครัฐและเอกชน จัดงาน “Krabi Rock & Fire International 2010” ระหว่างวันที่ 16 – 18 เมษายน 2553 ณ หาดต้นไทร หาดไร่เล และหาดอ่าวนาง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการปีนผาของจังหวัดกระบี่ และส่งเสริมให้กิจกรรมการแข่งขันปีนหน้าผาเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางการท่องเที่ยวประจำปีของจังหวัดกระบี่ รวมทั้งนำเสนอภาพลักษณ์จังหวัดกระบี่ เป็น Rock Climbing Destination ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักปีนหน้าผาว่าหากนึกถึงการปีนผาต้องไปที่จังหวัดกระบี่ เนื่องจากมีหน้าผาที่สวยงามติดอันดับโลก มีธรรมชาติที่สวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน มีเส้นทางปีนผากว่า 600 เส้นทาง นักปีนผาสามารถเลือกปีนได้ตามระดับความยากง่ายและความท้าทายที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นคือเมื่อปีนขึ้นไปบนยอดเขา สามารถมองเห็นทัศนยีภาพอันสวยงามของจังหวัดกระบี่ เช่น ภูเขาหินปูนรูปร่างแปลกตาคล้ายรองเท้าบู๊ท เรือสำเภา หัวนก รวมทั้งมองเห็นหมู่เกาะต่างๆ เช่น เกาะปอดะ เกาะทับ เกาะไก่ ฯลฯ โดยได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท คือ

• Lead Climbing Marathon
• Speed Climbing
• Deep Water Soloing


นอกจากกิจกรรมการแข่งขันปีนผาแล้ว ยังมีการจัด
การแข่งขันควงไฟ (Fire Contest) คาดว่าหลังจากการจัดกิจกรรมปีนผานานาชาติครั้งนี้จะทำให้จังหวัดกระบี่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับชาติและระดับสากลมากขึ้นรวมทั้งจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ในภาพรวมได้เป็นอย่างดี

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลและสมัครได้ที่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ โทร. 0 7562 3944 แฟ็กซ์ 0 7562 3955 E-mail: tourism@krabi_tourism.org

งานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ครั้งที่ 40 ปี 2553

งานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ครั้งที่ 40 ปี 2553
วันที่ 3-11 เมษายน 2553
ณ บริเวณลานจอดรถปั้นทรายโลก อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดงาน “วันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว” ครั้งที่ 40 ประจำปี 2553 เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชาวบ้านและกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดฉะเชิงเทรา

จังหวัดฉะเชิงเทราถือเป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพของประเทศไทย เนื่องจากมีรสชาติดีและคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยจากสารเคมีเป็นที่ถูกใจทั้งผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสามารถส่งผลผลิตมะม่วงจำหน่ายประเทศญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ดังนั้นจังหวัดฉะเชิงเทราจึงได้กำหนดการจัด “งานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว” ครั้งที่ 40 ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 3-11 เมษายน 2553 กำหนดการพิธีเปิดงานวันที่ 5 เมษายน 2553 เวลา 17.00 น. ณ บริเวณลานจอดรถปั้นทรายโลก อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลผลิตมะม่วง พืชผลทางการเกษตรและของดีเมืองแปดริ้วให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ภายในงานจะมีกิจกรรมมากมายประกอบด้วย การจำหน่ายผลผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพจากเกษตรกรชาวสวนของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำหน่ายกิ่งพันธุ์ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับพันธุ์หายาก การจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การจำหน่ายอาหารจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และสินค้าเบ็ดเตล็ดของดีจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลผลิตการเกษตรของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ มะม่วง ประกอบด้วย มะม่วงดิบ 3 ชนิด (แรด เขียวเสวย ฟ้าลั่น )มะม่วงสุก 4 ชนิด (น้ำดอกไม้เบอร์ 4, น้ำดอกไม้สีทอง,มหาชนก,อกร่อง) การประกวดมะพร้าวอ่อนน้ำหอมหวาน การประกวดปลากัดสวยงามเพื่อส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ การประกวดไข่ไก่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่ของประเทศ การประกวดร้านค้าเพื่อสร้างมาตรฐานและความสวยงามของร้านค้าที่มาจำหน่ายผลผลิตในงาน การแข่งขันตำส้มตำมะม่วง และนิทรรศการทางวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทั้งนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงร่วมงาน “วันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว” ครั้งที่ 40 ประจำปี 2553 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในจังหวัดฉะเชิงเทราให้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา

เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ กรุงเทพมหานคร



กิจกรรมในงาน
• การจำลองสงกรานต์ 4 ภาค กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป 4 ภาค
การสาธิตทำอาหารและขนมพื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรมจากภาคต่างๆ
กิจกรรม Hi-Light

สงกรานต์ 9 วัด กับไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร
กำหนดจัดงาน วันที่ 10 - 15 เมษายน 2553 (สงกรานต์ 9 วัด)

(
ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง วันที่ 10 – 18 เมษายน 2553)
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
3. วัดสุทัศน์เทพวรารามวรมหาวิหาร
4. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
5. วัดบวรนิเวศวิหาร
6. วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร
7. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
8. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
9. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร



กิจกรรมภายในงาน
ร่วมแต่งผ้าไทยไปไหว้พระเก้าวัดเพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ ร่วมงานบุญ สรงน้ำพระ และเล่นน้ำสงกรานต์ในย่านชุมชนต่างๆ

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
คติ : แก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมา
ไหว้พระขอพรพระแก้วมรกต สรงน้ำพระพุทธรูป รับน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่ไทย

2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
คติ : ร่มเย็นเป็นสุข

สงกรานต์ 4 ภาค (ภาคเหนือ : ปีใหม่เมือง ภาคกลาง : เถลิงศก ภาคอีสาน : บุญเดือนห้า ภาคใต้ : ประเพณีวันว่าง) เล่นน้ำสงกรานต์กับช้างและถนนสายน้ำ (ข้าวสาร) ไหว้พระขอพรและสรงน้ำพระประจำวันเกิด สรงน้ำพระนอน ทำบุญก่อเจดีย์ทราย-ไม้คำโพธิ์ วันที่ 10 – 18 เมษายน 2553 เวลา 10.00 – 21.00 น. สรงน้ำพระสงฆ์ วันที่ 13 – 15 เมษายาน 2553 เวลา 17.00 น. พิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ “9 วัด ในโอกาส 50 ปี ททท.” วันที่ 9 เมษายน 2553 เวลา 09.09 นาที จากพระสงฆ์ 9 พระอารามหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พิธีเปิดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ปี 2553 วันที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 18.00 – 21.00 น. พิธีสวดนพพระเคราะห์ ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วันที่ 11 เมษายน 2553 เวลา 18.00 น. พิธีสวดพระธรรมจักร ณ พระวิหารพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วันที่ 12 เมษายน 2553 เวลา 17.00 น. กิจกรรม “9 สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์” วันที่ 9 – 18 เมษายน 2553 เวลา 10.00 – 21.00 น.

3. วัดสุทัศนเทพวราราม
คติ : ไหว้พระวัดสุทัศนฯ วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป
พิธีบวงสรวงท้าวกบิลพรหม (เสาชิงช้า) ไหว้พระขอพร สรงน้ำพระพุทธ สรงน้ำพระสงฆ์ ก่อเจดีย์ทราย สวดมนต์เย็น การแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคใต้และอาหารภาคใต้

4. วัดสระเกศ
คติ : เสริมสร้างความคิด อันเป็นสิริมงคล
สงกรานต์ภาคกลางในบรรยากาศงานวัดย้อนยุค การละเล่นโบราณต่าง ๆ มากมาย ไหว้พระขอพร สรงน้ำเจดีย์ภูเขาทอง สรงน้ำพระพุทธ สรงน้ำพระสงฆ์ ก่อเจดีย์ทราย ก่อเจดีย์ภูเขาทองด้วยข้าวสาร การแสดงศิลปวัฒนธรรมและอาหารคาว-หวาน เสน่ห์ของภาคกลาง

5.วัดบวรนิเวศวิหาร
คติ : พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
สงกรานต์วัดบวรฯ ผสมผสานความร่วมมือชุมชนย่านบางลำพู (ชาวบ้าน วัด และโรงเรียน) ไหว้พระขอพร พิธีทำบุญตักบาตร สวดมนต์ สรงน้ำพระพุทธไพรีพินาศ สรงน้ำพระสงฆ์ ย้อนรำลึกชุมชนบางลำพูในอดีตสู่ปัจจุบัน ส่งอาหารการกินขึ้นชื่อบางลำพู กิจกรรมของสงฆ์วัดบวรฯ และกิจกรรมดนตรีไทยจากโรงเรียนในย่านบางลำพู สวดมนต์พระธรรมขันธ์ (วันที่ 13 เมษายน 2553) การแสดงศิลปวัฒนธรรมเหนือผสมผสานกับบางลำพู และอาหารดังย่านบางลำพู

6. วัดชนะสงคราม
คติ : มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
สงกรานต์ภาคตะวันออกผสมผสานงานสงกรานต์ถนนข้าวสาร ไหว้พระขอพ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ก่อเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม สาธิตศิลปหัตถกรรม อาหารคาว-หวาน

7. วัดระฆังโฆสิตาราม
คติ : มีคนนิยมชมชื่น

ไหว้พระขอพร สงกรานต์ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธ-พระสงฆ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ปล่อยนกปล่อยปลา

8. วัดอรุณราชวราราม
คติ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
ไหว้พระขอพร สงกรานต์ร่วมกับชุมชนบางกอกใหญ่ สรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ก่อเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม (บ้านสมเด็จฯ) กิจกรรมร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ททท. (ถ่ายรูปคู่กับเจดีย์วัดอรุณราชวราราม)

9. วัดกัลยาณมิตร
คติ : เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี
ไหว้พระขอพร ก่อเจดีย์ทรายพระธาตุประจำปีเกิด ทำบุญตักบาตร

• กิจกรรมรณรงค์
"แต่งไทยเล่นน้ำสงกรานต์แบบวิถีไทย" บริเวณถนนข้าวสาร โดยให้มีการรณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างถูกวิธี

• กิจกรรมสงกรานต์ถนนข้างสาร - บางลำพู - วิสุทธิกษัตริย์ บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนข้าวสาร ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู และวิสุทธิกษัตริย์
วันที่ 12 - 14 เมษายน 2553